รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อร่วมบูรณาการงานสุขภาพจิตกับงานมหาดไทย พร้อมทั้งสร้างวัคซีนครอบครัว เสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ที่สุพรรณบุรี




วันนี้(4มิ.ย.63) นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์บุญชัย นวมงคลวัฒนา ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมเข้าพบ นายนพฤทธิ์  ศิริโกศล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อร่วมบูรณาการงานสุขภาพจิตกับงานมหาดไทย และหารือแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การสร้างวัคซีนครอบครัว  เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิต  ในจังหวัดสุพรรณบุรี    ภายใต้การเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ  เศรษฐกิจและสังคมวงกว้างต่อประชาชนในทุกกลุ่ม  ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งยังส่งผลทางด้านจิตใจอย่างมากกับบุคคล ชุมชน ครอบครัว ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าและหมดหวัง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีโอกาสได้รับการดูแลช่วยเหลือไม่ทั่วถึงทั้งทางร่างกายและจิตใจ กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งและการฟื้นฟูทางจิตใจและการสร้างวัคซีนครอบครัว ให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับบุคคล ครอบครัวและและชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างรากฐานของชุมชนเข้มแข็งและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทั้งยังสามารถฟื้นฟูจิตใจให้กลับมาดำเนินชีวิตและสามารถปรับตัวในสถานการณ์การเกิดโควิด-19 ได้อีกด้วย

วัคซีนครอบครัวที่จำเป็นต้องเร่งสร้างในขณะนี้ ประกอบด้วย 3 พลังคือ 1. พลังบวก เพื่อเสริมจุดแข็งของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นต้นทุนในการหาทางออกในภาวะวิกฤติ ทำให้ครอบครัว มองมุมบวกเป็น เห็นทางออกในทุกปัญหา  2.พลังยืดหยุ่น เพื่อให้ครอบครัวที่ปรับตัวได้เปลี่ยนบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น  และ 3.พลังร่วมมือ เสริมความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค โดยวัคซีนครอบครัวนับเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง และขณะนี้เครือข่ายสุขภาพจิตทั่วประเทศ ร่วมกับผู้นำชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างวัคซีนครอบครัวอยู่ โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมกิจกรรมได้ผ่านทาง Facebook บ้านพลังใจ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิต ได้สำรวจความสุขของครอบครัวไทยทางออนไลน์และการลงพื้นที่สำรวจจากครอบครัวกลุ่มเปราะบาง พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีความสุขอยู่ในระดับดีอยู่ แม้ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แต่ละครอบครัวมีความเครียด แต่ครอบครัวทุกระดับสังคมมีความเครียดไม่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 76.2 ว่าจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้